ผู้นำ กับ กลยุทธ์ในการพัฒนาคนและองค์กร
ผู้นำ คือ คนที่สามารถปกครอง ดูแล มอบหมาย สอนงาน ติดตามงาน สร้างแรงจูงใจ และคิดในเชิงกลยุทธ์
เพื่อนำทีมไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญมาก ๆ ที่ผู้นำต้องตระหนัก และเรียนรู้ในการเป็นผู้นำที่ดี
หลาย ๆ องค์กรแต่งตั้งผู้นำขึ้นมาจากระบบอาวุโส หรือ คนที่ทำงานมานาน แต่ลืมมอบวิธีคิดในการเป็นผู้นำ
คิดว่า เขาทำงานมานาน รู้งานเยอะ ก็น่าจะเป็นผู้นำได้ แต่เปล่าเลยครับ
ผู้นำบางคนเข้าใจบทบาทก็สามารถบริหารงาน บริหารคนได้ แต่บางคนกับใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี
ทำให้ลูกน้องไม่อยากทำงานด้วยและนั่นเป็นสาเหตุทำให้ไปถึงเป้าหมายค่อนข้างยาก
ในบทนี้ ผมขอสะท้อนมุมคิด ในการเป็นผู้นำ ที่ต้องมีกลยุทธ์ในการพัฒนาคนและองค์กร
เพราะ เป้าหมายที่ชี้วัดในการเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น คือ ราบรื่น และ ประสบความสำเร็จ
- ราบรื่น
หมายถึงการบริหารทีมงานของตนเอง ทุกคน รักใคร่ สามัคคี ช่วยกันแก้ไขปัญหา มากกว่าสร้างปัญหา
- ประสบความสำเร็จ
หมายถึง ผลงานบรรลุตามเป้าหมายที่ผู้บริหารต้องการ นั่นคือ กำไรเยอะ ของเสียน้อย
และพฤติกรรมในเชิงผู้นำที่ต้องมีในการบริหารคนและองค์กร เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางได้ชัดเจนมากขึ้น คือ
1.มีทัศนคติที่ดีและมององค์กรเสมือนเราคือเจ้าของ
เพราะวิธีคิด ย่อมนำมาซึ่งวิธีการ หากผู้นำเป็นคนที่มองในเชิงบวก กล้าคิด ไม่ยึดติดกรอบคิดเดิม ๆ มองปัญหา
มีทางออกเสมอ และนำมาพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ผู้นำคนนั้นย่อมได้ใจหัวหน้าตนเอง และลูกน้องแน่นอน
อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างในการสร้างความคิดที่ดี ถ่ายทอดสู่ลูกน้องให้เกิดการทำในเชิงพฤติกรรมเดียวกัน
ปลูกฝั่งจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ทำงานด้วยระบบ แต่แฝงความเป็นพี่น้อง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
อีกทั้ง ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงได้ หากองค์กรมีการปรับเปลี่ยนเพื่อพร้อมในการแข่งขันกับองค์กรภายนอก
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้นำ จะต้องถ่ายทอดวิธีคิดออกมาให้ลูกน้องรับทราบ เพื่อนำไปปฏิบัติในเชิงรูปธรรมต่อไป
2.สรรหา คนดี คนเก่ง และให้โอกาสในการพัฒนา
กว่าจะหาคนเข้ามาร่วมทีมได้นั้น ค่อนข้างยากในปัจจุบัน แต่หากค้นพบเพชรเม็ดงามได้แล้วก็ควรเก็บรักษา
และพัฒนาเขาให้กลายเป็นเพชรที่เปล่งประกาย หน้าที่ของผู้นำ ต้องคิดเสมอว่า จะทำอย่างไร
ให้ลูกน้องตนเอง เก่ง และ ดี การให้โอกาสในการพัฒนาฝีมือในการทำงาน
ย่อมต้องถูกนำมาใช้ให้ลูกน้องเกิดการตระหนักและเรียนรู้ เพื่อวันหนึ่งเขาจะเติบโตกลายมาเป็นผู้นำที่ดีได้
ซึ่งหากเขาทำดี ก็ควรสร้างแรงจูงใจ ด้วยคำชม แต่หากเขาทำผิดพลาด ก็ต้องให้ feedback ในเชิงสร้างสรรค์
เพื่อให้เขาเกิดการพัฒนาตนเอง
3.กล้าเปิดใจสื่อสารร่วมกัน
เพราะการฟัง ย่อมทำให้เราเกิดมุมมองที่หลากหลาย มากกว่า ใช้ความคิดจากตนเองฝ่ายเดียว
การเป็นผู้นำ ทักษะหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญมาก ๆ นั่นคือ การฟัง โดยเฉพาะกล้าเปิดใจ รับฟัง
ความคิดเห็นของลูกน้องในการทำงาน เพื่อนำมาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้พัฒนาขึ้น
อีกทั้ง หากเรากล้าเปิดใจรับฟัง ย่อมทำให้ลูกน้องกล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็น อันนำมาสู่บรรยากาศที่ดี
ในการทำงานร่วมกัน
4.รู้จักสร้างแรงจูงใจในเชิงบวก
เพราะบางครั้ง การทำงานย่อมมีปัญหา และปัญหานั้น ๆ หากไม่ถูกแก้ไขย่อมบั่นทอนกำลังใจในการทำงานได้ครับ
ผู้นำที่ดี ต้องรู้จักสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน รู้จักสร้างแรงจูงใจในเชิงบวก และสามารถให้คำปรึกษาทั้งเรื่องงาน
และเรื่องส่วนตัวต่อทีมงานได้ และสิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นจากผู้นำ คือ การสร้างแบบอย่างที่ดี
สร้างให้ลูกน้องเกิดความเชื่อถือในการทำงาน เชื่อถือในประสบการณ์
และเกิดความชอบ ในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ร่วมกัน ซึ่งแรงจูงใจนับว่าสำคัญมาก ๆ ในการทำงาน
เพราะหากคนเรามีจิตใจที่ดี เข้มแข็งการทำงานย่อมมีประสิทธิภาพตามมาแน่นอนครับ
5.มีมุมมองต่อลูกค้าในเชิงบวก
เพราะองค์กรจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ย่อมต้องมีลูกค้าคอยค้ำจุน ซื้อสินค้า และบริการ
เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในองค์กร นำมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน และต้นทุนต่าง ๆ
หากเราอยู่ในภาคการผลิต
ก็ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ไร้ของเสีย เพื่อให้ลูกค้าเชื่อมั่น เชื่อถือในสินค้า และซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง
หากเราอยู่ในภาคบริการ
ต้องทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ เกิดความประทับใจ และกล้าบอกต่อสิ่งดี ๆ ที่เราบริการจนเกิดลูกค้าคนอื่น ๆ ต่อไป
ในฐานะของผู้นำ ต้องถ่ายทอดแนวคิดในเชิงธุรกิจให้ลูกน้องเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการทำงาน
เพื่อสร้างให้องค์กร สวยงาม , มั่นคง และเติบโต
สวยงาม = ภาพลักษณ์ดีในการบริการทั้งภายในและภายนอก
ความมั่นคง = องค์กรมีความมั่นคงทางการเงิน
การเติบโต = องค์กรมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสาขามากขึ้น และทำให้คนในองค์กรมีการเติบโตต่อไป
ซึ่งหากเราทำให้องค์กรมีความสวยงาม นั่นคือ มีภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการที่ดี ความมั่นคง
และการเติบโตย่อมตามมาแน่นอนครับ
6.ใช้คนให้ถูกกับงาน
การทำงานในเชิงผู้นำ คือ การเลือกใช้คนทำงานให้เหมาะสมกับงานนั้น ๆ ผู้นำ ต้องวิเคราะห์คนเก่ง
และการวิเคราะห์คนได้นั้น ต้องเป็นนักสังเกตการณ์ ซึ่งการลงมาหน้างานบ่อย ๆ
จะทำให้เราเห็นการทำงานลูกน้องชัดเจนขึ้น และรู้ว่า งานไหนใครควรทำ หรือ บางครั้งการลงหน้างานเพื่อสอนงาน
ให้คำปรึกษาในเรื่องของการทำงาน ก็ทำให้ลูกน้องเกิดความเข้าใจในเนื้องานนั้น ๆ
เมื่อลูกน้องมีความเข้าใจในการทำงานมากขึ้น ความผิดพลาดก็จะน้อยลงตามมาเช่นเดียวกันครับ
7.สร้างความสามารถในเชิงพฤติกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถของตนเอง
การทำงานนอกจากการวัดเชิงเป้าหมาย ที่วางไว้แล้ว ทุก ๆ ครั้งที่เราทำงาน เราย่อมได้ ประสบการณ์ ความสามารถ
ที่เกิดขึ้นติดตัวเราไป และสิ่งนั้นไม่มีใครนำไปจากเราได้ครับ ผู้นำต้องรู้จักสร้างกรอบในการพัฒนาความสามารถ
ในเชิงพฤติกรรม เพื่อให้ลูกน้องเกิดการตระหนักเรียนรู้ และเข้าใจว่า การพัฒนาตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญ
เพื่อทำให้เกิดความกระหายอยากพัฒนาตนเอง ซึ่งนั่นจะทำให้ทุกคนมีผลงานที่ดีขึ้น
ดังนั้น จงสร้างวิธีคิด ให้ลูกน้องเห็น ว่าการพัฒนาตนเอง เป็นสิ่งที่ดี และ ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง
โดยเริ่มจาก
- การเป็นนักอ่านในยามว่างจากการทำงาน
- การแนะนำช่องทางต่าง ๆ ในการพัฒนาตนเองจากเว็บไซต์
- การนำเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงงาน
เหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนครับ
สรุป
การเป็นผู้นำ ใคร ๆ ก็เป็นได้ครับ แต่การเป็นผู้นำที่ดีได้นั้น เราต้องมีการคิด วางแผน อย่างมีกลยุทธ์
และลงมือทำ เพื่อสร้างการเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกน้องยึดถือนำไปปฏิบัติตามในอนาคต
หวังว่า ทั้ง 7 ข้อ จะทำให้เราเข้าใจและมีกลยุทธ์ในการพัฒนาทีมงานเพื่อเป้าหมายขององค์กรครับ
ข่าวดี สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าองค์กรที่สนใจการพัฒนาหัวหน้างาน
สถาบันฝึกอบรมด็อกเตอร์ฟิช ขอนำเสนอหลักสูตร
การพัฒนาหัวหน้างาน In House Training แบบ New Normal
จำกัดคนเรียนไม่เกิน 20 ท่าน ในราคาพิเศษ
เพียง 10,000 บาท (ราคาไม่รวม Vat 7% และ หัก ณ ที่จ่าย 3%)
สนใจรายละเอียดฝึกอบรม สามารถติดต่อคุณ จิราวรรณ วัชระไพโรจน์
โทร 0836224415
โปรโมชั่นนี้เพียง 2 เดือน 1 กรกฎาคม - 31 สิงหาคม 2564 เท่านั้น