เทคนิคการทำงานให้ได้งานและได้ใจ จาก เจ้านายและลูกน้อง

บทบาทของการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในการทำงานและการปกครองคน

เพราะหัวหน้างาน ต้องอยู่ตรงกลาง ระหว่างการรับนโยบายจากผู้บริหาร เพื่อนำมาสื่อสาร วางแผน

ให้ลูกน้องในการผลักดันนโยบายจากนามธรรมสู่รูปธรรมที่จับต้องได้ และได้ผลลัพธ์ที่ดีในบั้นปลาย

ซึ่งบางครั้งหัวหน้างานอาจเจอสภาวะที่กดดันจากสิ่งรอบข้างที่ไม่ได้ดั่งใจ เพราะบางนโยบายก็ไม่ได้เป็นคน

คิดเอง แต่เพราะต้องรับผิดชอบจากงานที่ทำ พอไปสั่งงานลูกน้อง ลูกน้องบางคนก็ไม่รับฟัง

ฝืนทำแบบผิด ๆ จนผลงานไม่เข้าเป้า เมื่อผลงานไม่ได้คนที่ต้องรับผิดชอบก็คงหนีไม่พ้น หัวหน้างาน

ที่ต้องรับผิดชอบในการทำงานนั้น ๆ ซึ่งในการทำงานแต่ละวัน หากหัวหน้าไม่รู้จักวางแผนงานให้ดีแล้ว

ย่อมเป็นเรื่องยากมาก ๆ ครับ ที่งานจะเดินหน้าไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี

แผนที่ดีไม่ได้การันตีความสำเร็จ แต่แผนที่ดีนั้น ย่อมลดข้อผิดพลาด ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้จากสิ่งที่ทำ

บทความนี้ผมขอแบ่งปันประสบการณ์

เทคนิคการทำงานให้ได้งานและได้ใจ จาก เจ้านายและลูกน้อง ตามมาอ่านกันครับ

1.หัวหน้างานต้องรู้จักวางแผนงานและสื่อสารในทิศทางเดียวกัน

ในการทำงานแต่ละวัน ย่อมมีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้

ได้ ซึ่งหากเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ก็ควรต้องทำใจ ตั้งสติให้ดี และกลับมาค้นหาสิ่งที่ควรทำในความ

รับผิดชอบของตนเอง และของทีม นั่นคือ สิ่งที่เราสามารถควบคุมมันได้

ว่าจะมีหนทางอย่างไรในการแก้ไขปัญหาในการทำงานแต่ละวัน

ซึ่งผมเชื่อว่า ปัญหาจะน้อยลง หากหัวหน้างานรู้จักคิด รู้จักวางแผน ก่อนเริ่มงานทุก ๆ เช้า

โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีเป้าหมายชัดเจนในการทำงานแต่ละวัน เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต เป็นต้น

ที่ต้องนั่งคิดว่า วันนี้เรามีเป้าหมายเรื่องอะไรที่จะทำให้องค์กรพัฒนา เรามีเวลาในการทำงานเท่าไหร่

หากเจอปัญหาเรามีแผนสำรองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องเหล่านี้หัวหน้างานต้องพยายามกระตุ้นต่อม

ความคิดทั้งของตนเอง และของลูกน้อง ให้รับทราบเป้าหมาย และค้นหาแนวทางในการวางแผนร่วมกัน

ซึ่งหัวหน้างานต้องคิด ต้องหาวิธีการ และรับฟังแนวทางต่าง ๆ จากลูกน้องเพื่อให้งานออกมาในทิศทาง

เดียวกัน เพราะการเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้กล้าสื่อสาร ได้กล้านำเสนอ หัวหน้างานย่อมมีทางเลือก

ในการแก้ไขปัญหา หรือ การวางแผนที่มากขึ้นจากการคิดเองคนเดียว อย่าลืมว่าคนที่อยู่หน้างาน

ย่อมรู้ถึงปัญหาและวิธีการมากกว่าคนที่มองแค่ภาพรวม ยิ่งหากทำงานและเจอปัญหาในแต่ละวัน

ควรจัดให้มีการพูดคุย ประชุม เพื่อการแก้ไขปัญหามากกว่าปล่อยปะละเลยทำเป็นหูทวนลม

และการจัดประชุมในการแก้ไขปัญหา ควรจัดให้มีวาระที่ชัดเจนในการพูดคุย

เน้นปัญหาในภาพรวมของการทำงานร่วมกัน มากกว่าปัญหาส่วนตัว โดยหัวหน้าต้องกล้าเปิดใจรับฟัง

ทุก ๆ แนวทางในการนำเสนอของลูกน้อง รู้จักขอบคุณลูกน้องที่กล้าเสนอแนะความคิด

และสรุปแนวทางของการแก้ไขปัญหาให้ลูกน้องฟัง โดยอาจเลือกมา 3 แนวทางที่น่าสนใจ

และจัดลำดับเป็นแผนการแก้ไขปัญหา เผื่อแผนแรกไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็ยังมีแผนสำรองให้เลือกใช้ต่อไป

อีกทั้งการแก้ไขปัญหา ควรกำหนดผลติดตามประเมินเป็นระยะ ๆ เพื่อประเมินแนวทางว่าควรใช้ต่อ

หรือควรเปลี่ยนแปลง ซึ่งกิจกรรมหนึ่งที่ผมอยากให้หัวหน้างานทำในทุก ๆ วัน หรือ สัปดาห์หนึ่งทำ 3 วัน

นั่นคือ การทำ Morning Talk ที่เป็นการกระตุ้นการรับรู้ในงานแต่ละวันให้เกิดทิศทางเดียวกัน

โดยการทำ Morning Talk เราคุยประเด็นหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ

1.1 ปัญหาแนวทางการแก้ไข

1.2 เป้าหมายและแผนงานในวันนี้

1.3 การเน้นย้ำสิ่งที่ต้องระมัดระวัง และการกระตุ้นขวัญและกำลังใจ

โดยใช้เวลาไม่นานในการประชุมเพียง 15 นาทีในทุก ๆ เช้าก่อนเริ่มต้นแยกย้ายไปทำงาน

และการประชุมที่ดี ไม่ควรใช้รูปแบบการสื่อสารทางเดียว แต่ควรใช้การสื่อสารในรูปแบบสองทาง

มีการโต้ตอบ มีการรับฟังซึ่งกันและกัน และมีการจดบันทึกในแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นตัวเลือก

ในการปรับปรุงงานต่อไป

2.การเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน

การทำงานในแต่ละวัน หัวหน้าต้องรู้จักลูกน้องให้เยอะ ๆ และจ่ายงานให้ลูกน้องได้ทำในสิ่งที่ตรงกับ

ความต้องการ ความชอบของลูกน้อง หรือถ้าเห็นว่า ลูกน้องคนนี้มีศักยภาพมากพอในการทำงานอื่น ๆ

ก็ควรอธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการทำงานในชิ้นงานใหม่ และสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกน้องว่า

เขาสามารถทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ ไม่ใช่ทำแต่สิ่งเดิม ๆ หรือสิ่งที่ชอบเพื่อเป็นการพัฒนาลูกน้องคนนั้นให้เก่งขึ้น

แต่ก่อนที่จะพัฒนาเราต้องดึงศักยภาพที่เขามีขึ้นมาก่อน ซึ่งผมขอเรียกว่า จุดแข็งของคน

ที่หัวหน้างานต้องหมั่นสังเกต หมั่นตรวจสอบการทำงานของลูกน้องว่า

เขามีความรู้สึกกับงานที่ทำอย่างไร เพื่อผลักดัน เพื่อแก้ไข เพื่อพัฒนาลูกน้องคนนั้นต่อไปในอนาคต

เรื่องเหล่านี้ เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มันคือหน้าที่และความรับผิดชอบของหัวหน้าที่ควรมีต่อลูกน้อง

ซึ่งผมมีคนอยู่ 4 ประเภทที่อยากให้ลองศึกษาในการมอบหมายงาน และติดตามงาน ให้ได้ทั้งงานและได้ใจ

นั่นคือ

2.1 ลูกน้องแบบ Star

ลูกน้องประเภทนี้ มักเป็นคนเก่ง และมีทัศนคติที่เป็นบวก ต่องานที่ทำ

ซึ่งการมอบหมายงาน ควรให้งานที่ท้าทายให้ลูกน้องคนนี้ทำอยู่เสมอ

ส่วนการติดตามงาน ก็ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ ให้กรอบระยะเวลาในการทำงาน

ถึงเวลางานมาส่งตามกำหนดแน่นอนครับ

ลูกน้องประเภทนี้ควรเก็บรักษาไว้ให้ดีและผลักดันให้โอกาสเติบโตต่อไปในอนาคตเชียร์ครับ

2.2 ลูกน้องแบบ Work Horse

ลูกน้องประเภทนี้ มักเป็นคนที่มีความตั้งใจ ทัศนคติดี แต่มักทำงานผิดบ่อย ๆ

ซึ่งการมอบหมายงาน ควรเน้นย้ำการสื่อสารแบบสองทางให้มาก ๆ ก่อนมอบหมายงานให้ทำ

ส่วนการติดตามงาน อาจต้องใกล้ชิดเพื่อคอยแนะนำ คอยตรวจสอบในระยะแรก ๆ

เพื่อปรับกระบวนการทำงานทำความเข้าใจในเนื้องานให้รัดกุมมากขึ้น

คนประเภทนี้หากสามารถลดข้อผิดพลาดในการทำงานได้ย่อมสามารถกลายเป็นแบบ Star ได้ไม่ยาก

2.3 ลูกน้องประเภท Problem Child

ลูกน้องประเภทนี้ มักเป็นเด็กที่มีอีโก้ มีความสามารถ แต่มักไม่ค่อยรับฟังความคิดของหัวหน้า

การมอบหมายงาน อาจต้องลองเปิดใจและให้โอกาสในการทำงานให้มากขึ้นจากแนวคิดของลูกน้อง

โดยหัวหน้าต้องประเมินผลเสียไว้ล่วงหน้า เพราะหากเกิดความผิดพลาดในภาพรวมหัวหน้าต้องอธิบาย

ให้ลูกน้องประเภทนี้เข้าใจ ทว่า หากความผิดพลาดนั้นไม่ได้ส่งผลเสียหาย ก็ลองให้ลูกน้องประเภทนี้ทำดู

เพราะหากเรารับฟังเขา ให้โอกาสเขามากเท่าไหร่ คนประเภทนี้มีความสามารถอยู่แล้ว

เราอาจได้ขุนพลมือดีข้างกายก็ย่อมได้ครับ

ส่วนการติดตามงาน ควรมีกรอบที่ชัดเจนในงานที่ทำ และไม่ควรไปจู้จี้จุกจิกกับรายละเอียดของงาน

แต่ให้โอกาสแสดงฝีมือได้เต็มที่ครับ และหากเกิดความผิดพลาดในการทำงานหัวหน้างานต้องเรียกมา

พูดคุยและทำความเข้าใจ ปรับทัศนคติให้ตรงกัน ผมเชื่อว่า หากลูกน้องทำผิดพลาดเขาจะเริ่มฟังหัวหน้า

มากขึ้นครับ ดังนั้น การพูดคุย ต้องไม่ใช้อารมณ์กับลูกน้องประเภทนี้ แต่ใช้การรับฟัง และใช้คำพูดในเชิง

สร้างสรรค์ครับ

2.4 ลูกน้องประเภท Dead Wood   

ลูกน้องประเภทนี้ มักเป็นคนที่ทำงานมานาน รู้เข้าใจทุกอย่าง แต่มักหมดไฟไม่ค่อยอยากพัฒนา

คนประเภทนี้หากมีเยอะ หัวหน้างานจะลำบากใจ เพราะงานไม่ค่อยเดิน นอกจากงานจะไม่เดินแล้ว

ทัศนคติยังเป็นลบ มากกว่าบวก ไม่อยากพัฒนาตนเอง แต่อยากได้เงินเดือนสูง ๆ ไม่รับฟัง และมักจะแย้ง

แนวทางที่หัวหน้าพูดอยู่เสมอ ซึ่งคนประเภทนี้ต้องปรับทัศนคติเยอะๆ โดยการเรียกมาตักเตือน เรียกมา

พูดคุยกันตัวต่อตัว เพื่อค้นหาสาเหตุของสิ่งที่ลูกน้องประเภทนี้เป็น และเปิดโอกาสให้แก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด

ถ้ายังไม่มีการปรับปรุงตัวเอง ก็ต้องใช้ไม้แข็งในเรื่องกฎระเบียบต่อไป

การมอบหมายงาน ควรให้งานง่าย ๆ งานที่ไม่ค่อยสำคัญ เพื่อทำให้ลูกน้องคนนี้ได้เกิดการตระหนัก

ในสิ่งที่ทำ เพราะหากให้งานที่สำคัญ  ๆ หากผิดพลาดจะส่งผลเสียหายมากต่อทั้งทีม

แต่หากให้งานที่สำคัญน้อย ๆ หากผิดพลาดก็ยังพอแก้ไขได้และไม่ส่งผลเสียในภาพรวม

การติดตามงาน ควรติดตามงานเป็นระยะ ๆ เพื่อดูความเรียบร้อยของงาน หากงานผิดพลาดต้องเรียก

มาตักเตือนในทันที และชี้ความผิดให้แก้ไขปรับปรุง แต่หากยังทำเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พฤติกรรมก็ควรใช้ไม้แข็งในเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับต่อไป

แต่ผมก็ยังมีความเชื่อว่า คนประเภท Dead  Wood  สามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองได้

ขอเพียงหัวหน้าพร้อมรับฟัง พร้อมให้โอกาสในการแก้ไขปรับปรุงตนเอง

แต่ถ้าให้โอกาสในเรื่องที่ผิดพลาดซ้ำซากบ่อย ๆ หัวหน้างานก็ควรทำการตัดสินใจเพื่อภาพรวมของทีม

ให้อยู่ในทิศทางที่เป็นบวกมากกว่าลบนะครับ

 

การทำงานในแต่ละวัน เรื่องที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่น่าหนักใจสำหรับคนเป็นหัวหน้างานนั้น

คงหนีไม่พ้นเรื่องของ คน ไม่ว่าจะเป็นระดับที่สูงกว่า หรือ ต่ำกว่าเรา แต่หากเราทำความเข้าใจ

และพร้อมปรับตัวเอง โดยหากคนนั้นอยู่สูงกว่า ก็ต้องหมั่นสังเกตความต้องการของหัวหน้าว่า

เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ปรับตัวทำในสิ่งที่เขาชอบ แต่ต้องเป็นเรื่องงานนะครับ

เช่น หากเขาชอบงานที่รวดเร็ว และได้ผลลัพธ์ดี ๆ เราก็ต้องพยายามปรับตัวให้ทันความต้องการของ

หัวหน้า เช่นกัน กับลูกน้องของเรา ที่ต้องเข้าใจ ว่าลูกน้องแต่ละคนมีสไตล์ไหน เลือกใช้คนให้ถูกกับงาน

หรือ หากเริ่มมีปัญหา จงใช้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาให้ถูกต้องกับคนประเภทนั้น ๆ ตามตัวอย่าง

ที่ผมให้ไว้กับลูกน้อง 4 ประเภท และสิ่งที่สำคัญของการแก้ไขปัญหา คือ การพร้อมเปิดใจเป็นกลาง

รับฟังปัญหาให้มาก และใช้แนวทางการแสดงบทบาทภาวะผู้นำที่ ใช้ใจนำทาง

มากกว่าใช้กฎระเบียบใช้อำนาจเป็นแนวทางในการปกครองลูกน้องนะครับ

ในการทำงาน ลูกน้องคอยสังเกตหัวหน้าอยู่เสมอ

หากหัวหน้าเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งคำพูดและการกระทำย่อมได้ใจลูกน้องเป็นแน่ครับ

ทว่า หากหัวหน้าไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ สุดท้ายไม่ต้องโทษลูกน้องครับ

โทษที่ตัวเองนั่นแหล่ะ

เชื่อผมเถอะ ++

ท่านสามารถติดตาม Dr.fish ได้ทาง Line แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยทำตามขั้นตอน คือ

1.ค้นหา ID : Dr.fish กรุณากดลิงก์ด้านล่าง หรือค้นหา ID "@dr.fish" ที่ LINE หรือ LINE@ 

(กรุณาใส่ "@" ด้วย) แล้วเพิ่มเป็นเพื่อนของคุณ

 2. คลิก Link http://line.me/ti/p/%40dr.fish

 

ประโยชน์ที่จะได้รับในการเป็นเพื่อนกับ dr.fish คือ

1.ได้รับข้อมูลการพัฒนาตนเองที่เป็นประโยชน์ วิธีคิดในเชิงบวก ทุกเช้า 7.30 น.ทุกวัน

2. สามารถปรึกษาการทำงาน วิธีคิดได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเกรงใจครับ ยินดีมาก ๆ ครับ

 

คิดบวก คิดถึง Dr.fish

เขียนโดย อ.มงคล กรัตะนุตถะ

วิทยากร นักคิด นักเขียน 

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 713,442