เปลี่ยนหัวหน้างานให้กลายเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำ

จากการศึกษาค้นคว้าและบรรยายเกี่ยวกับหัวหน้างานมาหลายองค์กร ผมพบว่าบทบาทของหัวหน้างานนับว่ามีความสำคัญมาก ๆ ในการพัฒนาองค์กรไปข้างหน้า เพราะหัวหน้างานอยู่ตรงกลางระหว่าง ผู้บริหาร และ พนักงาน ในการแปลงจากนโยบาย สู่การปฏิบัติ ซึ่งหากหัวหน้างานไม่เข้าใจแนวคิด นโยบายที่ผู้บริหารสื่อสารลงมา ก็ยากมาก ๆ ที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาคิด วางแผน ในการมอบหมายงานให้ลูกน้องนำไปปฏิบัติ

และขึ้นชื่อว่าเป็นหัวหน้างานแล้ว ก็เปรียบเสมือนพนักงานคนหนึ่งในองค์กร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น หากเป็นมืออาชีพก็ดีไป (มืออาชีพ คือ คนที่มีความพร้อมในการทำงานทุก ๆ วัน มีความรับผิดชอบ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในการพัฒนาตนเอง ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง) แต่หากเป็นหัวหน้างานแบบมือสมัครเล่นล่ะครับ (มือสมัครเล่น คือ คนที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ขาดความรับผิดชอบ ขาดแนวคิดการมีส่วนร่วม มองแต่ผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น) ซึ่งการเป็นหัวหน้างานที่ดี ต้องมีภาวะความเป็นผู้นำที่ค่อนข้างสูงนะครับ ถึงจะสามารถปกครองลูกน้องให้สามารถทำงานได้ตามแผนที่กำหนด

จากประสบการณ์ผมพบว่า หัวหน้างานบางคนก็ยังไม่สามารถปกครองลูกน้องได้ บางคนตึงเกินไป บางคนหย่อนเกินไป พูดง่าย ๆ สุดโต่งทั้งคู่ ซึ่งหากเราไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน การปกครองคนจะเป็นเรื่องยากมาก ๆ ครับ เพราะขึ้นชื่อว่า “คน” ก็มีหลายรูปแบบในการเข้าถึง คนบางคนอาจต้องการการพูดแบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม แต่คนบางคนอาจต้องการคำพูดที่สวยหรู พูดแบบชักแม่น้ำทั้งห้ามารวมกัน ประมาณนั้นครับ ซึ่งการปกครองคนให้สามารถทำงานร่วมกันได้ หัวหน้างานต้องมีศิลปะในการผูกมิตรนั่นคือ ควรใช้ ใจนำ + อำนาจ

คำว่า “ใจ” หมายถึง การปกครองแบบเพื่อน พี่ น้อง เปรียบเสมือนครอบครัวเดียวกันมีความเป็นกันเองไม่ถือเนื้อถือตัว รู้จักอ่อนโยนในบางครั้ง พร้อมรับฟังลูกน้อง ให้เกียรติลูกน้อง และเหนื่อยในการทำงานไปด้วยกัน

คำว่า “อำนาจ” หมายถึง การปกครองคนหมู่มาก บางครั้งก็ต้องมีพระเดช นั่นคือ ความเด็ดขาดในการตัดสินใจโดยเฉพาะลูกน้องที่ทำงานผิดพลาดจนส่งผลกระทบในภาพรวม ก็ต้องกล้าเรียกมาตำหนิ และชี้แนะแนวทางในการเรียนรู้เพื่อลด และป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งการปกครองคนหมู่มาก การใช้อำนาจควรใช้เฉพาะเรื่องงานเท่านั้น อย่าเผลอไปใช้ในเรื่องส่วนตัวนะครับ ไม่อย่างนั้นเขาจะหาว่าเราบ้าอำนาจครับ

ซึ่งจากแนวคิด ทฤษฎีต่าง ๆ การสร้างหัวหน้างานให้เป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำนั้น มุมมองผมมองว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นผู้นำที่ภาวะผู้นำได้ครับ เพราะทุกอย่างต้องฝึกฝน พัฒนาตนเองจากภายในสู่ภายนอก โดยต้องทำสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

  1. ผู้นำที่มีภาวะผู้นำ ต้องมีความมุ่งมั่น

ตามหลักการโมเดล ภาวะผู้นำแบบ 3C (Communication-Curiosity-Creativity/ความมุ่งมั่น-ความใฝ่รู้-ความสามารถในการสร้างสรรค์) ซึ่งจากโมเดลนี้สะท้อนถึงการเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบในการพัฒนางานตนเองให้ไปถึงเป้าหมายโดยใช้เรื่องของ ใจ คือ ความมุ่งมั่นฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ และมีหัวหน้างานมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จสิ่งที่จะตามมา จากงานวิจัยของ Rick Johnson ที่ศึกษาภาวะผู้นำกับกลุ่มนักบริหารในธุรกิจค้าส่งพบว่า ความเชื่อมั่น (trust) จากลูกน้องในทีมเป็นจุดที่สำคัญเริ่มต้นที่จะทำให้ทีมเดินไปในทิศทางเดียวกันและประสบความสำเร็จได้

คนที่เป็นหัวหน้างานมีรายได้สูงกว่าลูกน้อง หากเราแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่อยากทำให้งานประสบความสำเร็จย่อมทำให้เกิดการยอมรับจากลูกน้องในการทำงานร่วมกัน ซึ่งต่อให้งานจะยากแค่ไหน มีความเหนื่อยล้า หรือท้อแท้ในบางครั้ง แต่หากมีความมุ่งมั่นที่จะชนะปัญหาย่อมได้ชัยชนะไม่ยากครับ

 

  1. ผู้นำที่มีภาวะผู้นำเข้าใจและยอมรับในจุดอ่อนของลูกน้อง

การเป็นผู้นำที่ดี สิ่งสำคัญ คือ ต้องรอบรู้ในพฤติกรรมของลูกน้องเพื่อการมอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถ เพราะทุกคนมีจุดแข็ง และจุดอ่อน ที่แตกต่างกันออกไป การเป็นผู้นำที่ดีต้องพร้อมที่จะเปิดใจเรียนรู้ในจุดอ่อนของลูกน้อง และหาเครื่องมือต่าง ๆ นำมาพัฒนาถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลา แต่หากวันหนึ่งลูกน้องมีความสามารถที่มากขึ้น หลากหลายมากขึ้น ผู้นำย่อมได้ขุนพลมาช่วยกันทำงานให้เดินไปข้างหน้า แต่ระหว่างทางผู้นำต้องอดทน เสียสละ ฝึกสอน ให้แนวคิดในการพัฒนาทั้งตนเอง และลูกน้อง เพราะก่อนที่เราจะพัฒนาคนอื่น ตัวเราก็ต้องพัฒนาด้วยเช่นกันครับ การทำให้คนทุก ๆ คนศรัทธาในตัวเรา ต้องเริ่มที่ตนเองก่อนทำให้คนอื่นเห็นว่า เราก็ทำสิ่งนั้นได้ ไม่ใช่บอกคนอื่นอย่างหนึ่ง แต่เราทำอย่างหนึ่ง

ผู้นำที่ดีต้องเป็นทุกอย่าง ๆ ทั้งพี่เลี้ยง โค้ช ครู ที่คอยแนะนำสิ่งต่าง ๆ ในการพัฒนาตนเอง และพร้อมสนับสนุนลูกน้องไปสู่จุดที่สูงขึ้น ซึ่งการเข้าใจและยอมรับในความสามารถลูกน้องผมมองว่าจะทำให้ผู้นำเห็นทางสว่าง และไม่ดันทุรังใช้ลูกน้องผิดจนเกิดความเสียหาย แต่รู้ว่าลูกน้องคนนี้เก่งอะไรเพื่อการใช้งานที่เหมาะสมและใช้เวลาในการพัฒนาจุดอ่อนให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน จำไว้ว่า จุดแข็ง คือ สิ่งที่ไปต่อได้เร็ว แต่จุดอ่อนหากเราค่อย ๆ เรียนรู้ย่อมกลายเป็นจุดแข็งในอนาคตได้ ครับ

 

  1. ผู้นำที่มีภาวะผู้นำพร้อมให้โอกาสลูกน้องทำสิ่งใหม่ ๆ

การเป็นผู้นำที่ดีต้องเข้าใจทิศทางของการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานให้ดีขึ้น เร็วขึ้น ซึ่งผู้นำที่ดีพร้อมเปลี่ยนแปลงแนวคิด วิธีการ จากเดิมทำแบบหนึ่งซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่อดีตไม่สามารถการันตีในปัจจุบันได้ครับ ซึ่งผู้นำที่ดีต้องกล้าเปลี่ยนกรอบความคิดโดยเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้เสนอแนะแนวคิด เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงงานให้ดีขึ้น ให้โอกาสได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ 
เพราะบางครั้งผู้นำก็อาจตันในความคิด ถึงแม้จะมีประสบการณ์มากกว่า แต่ประสบการณ์ที่ดีก็ต้องล้างทิ้งไปเพราะใช้อะไรไม่ได้ในปัจจุบัน ซึ่งการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ๆ สร้างแนวคิดใหม่ ๆ ย่อมทำให้งานยังเดินไปข้างหน้า แต่ต้องมีข้อควรระวัง เพราะคนรุ่นใหม่ขาดประสบการณ์ ผู้นำที่ดีต้องคิดเผื่อไว้ก่อน คือ รู้จักคาดการณ์กับความผิดพลาดเพื่อวางแนวทางการป้องกัน เพราะหากเกิดความผิดพลาดจะได้มีความพร้อม ซึ่งผมมองว่า การทดลองทำบางสิ่งบางอย่าง ไม่สามารถหวังผลได้ในครั้งแรก หากเกิดความผิดพลาดควรหาแนวทางการป้องกัน และเรียนรู้เป็นประสบการณ์ในการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ต่อไป

ไม่ลงมือทำ เท่ากับ ย่ำอยู่กับที่ และการย่ำอยู่กับที่ มีแต่แพ้และตายเท่านั้น โลกยุคใหม่ต้องกล้าคิด กล้าทำ ถึงแม้จะผิดพลาดแต่สิ่งที่มีค่าที่ได้รับกลับมา คือ ประสบการณ์ ที่ไม่ได้เกิดจากการคิด วางแผน แต่เกิดจากการลงมือทำเท่านั้น

 

  1. ผู้นำที่มีภาวะผู้นำรู้จักคิด วิเคราะห์ปัญหาและหาเครื่องมือแก้ไขปัญหา

การเป็นผู้นำที่ดีในบางครั้งต้องรู้จักช่วยลูกน้องในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แค่หยิบเครื่องมือให้ลูกน้องโดยไม่มีคำแนะนำในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ หรือที่แย่กว่านั้น คือ ไม่มีคำแนะนำใด ๆ ต่อลูกน้องและให้ลูกน้องไปแก้ไขปัญหากันเอง แบบนี้ไร้ซึ่งการเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำมาก ๆ ครับ อย่าลืมว่า งานจะสำเร็จได้ต้องเกิดจากคนปฏิบัติ นั่นคือ ลูกน้องของเราเองนะครับ หากเราไม่ช่วยเหลือลูกน้อง  สนับสนุนลูกน้องให้ทำงานบรรลุถึงเป้าหมายได้
ผู้นำที่ดีต้องกล้ารับผิดชอบในผลงานของตนเอง มากกว่าโทษคนอื่น ๆ หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวครับ

จากลักษณะความเป็นผู้นำในเรื่องของการวิเคราะห์ปัญหานี้ สอดคล้องกับแนวคิดทางวิชาการของ Heifetz, R.A. and Laurie, D.L. (2001) ที่เขียนบทความเรื่อง “The Work of Leadership” ลงในวารสาร Harvard Business Review ว่าสิ่งหนึ่งที่ผู้นำควรกระทำ เรียกว่า “Direction” ซึ่ง Heifetz และ Laurie มองว่า ผู้นำหรือหัวหน้าในยุคก่อน ๆ จะเป็นคนที่วิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่บทบาทผู้นำ หรือ หัวหน้างานยุคปัจจุบันนี้  ผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักใช้โอกาสเมื่อเกิดปัญหาและปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นบทเรียนในการสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นในการทำงาน และองค์กรต่อไปมากกว่ามานั่งท้อในปัญหาที่เกิดขึ้น อดีตไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ แต่อดีตสามารถนำมาเป็นบทเรียนให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ผมมีเรื่องเล่าสมัยไปทำงานที่ สปป.ลาว เมื่อปีที่แล้ว 2018 ให้โรงงานแห่งหนึ่ง สิ่งที่ผมชอบแนวคิดซึ่งคล้าย ๆ บทวิจัยของ Heifetz และ Laurie คือ แนวคิดของการสร้างปัญหาให้ลูกน้อง อย่าพึ่งเข้าใจผิด คิดว่าสร้างปัญหาจนทำงานไม่ได้นะครับ แต่การสร้างปัญหาในมุมมองนี้ คือ การฝึกให้ลูกน้องซึ่งเป็นคน สปป.ลาว ได้คิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ จากปัญหาที่ดูเหมือนจะแก้ไขยาก แต่ทุกคนก็สามารถแก้ไขปัญหาจนเกิดนวัตกรรมในการทำงานขึ้นได้ นั่นคือ หน้าที่ของผู้นำที่ดี รู้จักฝึกลูกน้องให้มีความสามารถมากขึ้นจากโจทย์ต่าง ๆ ที่มอบหมายให้ เพราะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของลูกน้องว่าต้องทำได้ ซึ่งการเป็นผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องรู้ลึกในทุก ๆ เรื่องหรอกครับ ในมุมมองผมนะ แต่การเป็นผู้นำที่ดีต้องรอบรู้ในเชิงกว้าง เข้าใจลักษณะนิสัยของผู้ตาม และมองในภาพรวม เพื่อศึกษาและดึงศักยภาพของลูกน้องคนนั้นออกมา เปรียบเสมือนโค้ชทีมฟุตบอล ที่โค้ชอาจเตะฟุตบอลไม่เก่งในสมัยการเป็นนักเตะ หรือบางคนไม่ได้มีอาชีพเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่แรก แต่เพราะเขาพัฒนาตนเองจนเข้าใจศาสตร์แห่งฟุตบอล มีกรอบแนวคิดจากการประยุกต์ตำราเดียวกันให้เกิดแนวทางของตนเอง เมื่อกรอบความคิดชัดเจน ก็เฟ้นหานักเตะมาสร้างให้เข้ากับระบบที่ติดตั้งไว้ ระหว่างทาง ก็คอยผลักดัน แนะนำ ชี้จุดแข็ง และจุดอ่อน ใช้จิตวิทยากระตุ้นนักเตะหากกำลังเพลี้ยงพล้ำกับคู่ต่อสู้ มันคือหน้าที่ของผู้นำที่ดีครับ

นอกเหนือจากการสร้างตนเองให้เป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำในการปกครองลูกน้องได้แล้วนั้น สิ่งที่ผู้นำที่ดีต้องคิดต่อ คือ การทำงานให้ได้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น (Productivity) เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย และตรวจสอบ ชี้ถูก ชี้ผิด กับลูกน้องได้ และนี่เป็นมุมมองที่ผู้นำที่ดีควรนำไปปฏิบัติสร้างโมเดลให้ลูกน้องเห็นและปฏิบัติตาม ดังต่อไปนี้

 

  1. หยุดทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน

จากงานวิจัยด้านสมองของ Professor Earl K.Miller พบว่า เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นให้โฟกัสกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แล้วจะช่วยทำให้งานนั้นเสร็จเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งผมเห็นด้วยมาก ๆ กับงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะหากเราไม่โฟกัสในการลงมือทำ ยากครับที่งานจะเสร็จได้ทันในเวลาที่กำหนด ซึ่งผมขอเสริมว่า ก่อนเริ่มต้นทำงานควรจัดลำดับความสำคัญในการทำงานว่าอะไรควรทำก่อน อะไรควรทำทีหลัง อะไรคือความเร่งด่วนของงานที่ต้องทำในช่วงเช้า หรือ งานไหนควรทำในช่วงบ่าย เพราะช่วงเวลาของการทำงาน หากเป็นช่วงเช้าสมองเราจะลื่นไหลได้ดีกว่าช่วงบ่ายที่สมองจะเกิดความเหนื่อยล้าจากการทำงาน และการบันทึกข้อมูลหรือเขียนแผนงานไว้จะทำให้เราสามารถประเมินตนเองได้ว่าเราพัฒนาการทำงานได้ดีมากแค่ไหน ซึ่งผู้นำที่ดีควรทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างให้ลูกน้องเห็นและปฏิบัติตามครับ

 

  1. ลองหยุดพักบ้าง

การทำงานเป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกันย่อมเกิดการเหนื่อยล้าครับ และไม่ส่งผลดีต่อ Productivity ในการทำงาน ซึ่งการหยุดพักเป็นเวลาสั้น ๆ ระหว่างการทำงานประมาณ 5-15 นาที จะช่วยในเรื่องการมีสมาธิได้ดียิ่งขึ้น และทำให้มีอารมณ์ดีในการทำงาน เช่น ระหว่างที่เราโฟกัสในเนื้องานของเราอาจหยุดพักไปเดินดูงานลูกน้องหรือไถ่ถามงานลูกน้องเพื่อให้คำแนะนำระหว่างทางย่อมเป็นการผูกมิตรที่ดีและทำให้ลูกน้องเห็นถึงความใส่ใจในการทำงานจากผู้นำ ซึ่งการหยุดพักจากงานที่ทำ ไปดูสิ่งอื่น ๆ ย่อมทำให้เรามีมุมมองที่ดีมากขึ้นครับ

 

 

  1. ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ

การทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตได้นั้น ต้องเริ่มต้นคือ ก้าวแรกในการลงมือทำ ซึ่งการทำงานก็เช่นกัน หากเรามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ แต่หากเรามองที่ความใหญ่บางครั้งอาจมีท้อแท้กันบ้างไม่มากก็น้อยครับ ซึ่งเราไม่ควรคาดหวังสิ่งที่ใหญ่ในเวลาจำกัด แต่เราควรซอยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เป็นเป้าหมายเล็ก ๆ นั่นคือ การวางแผนในแต่ละวันว่าควรทำเท่าไหน อย่างไร เพื่อสร้างกำลังใจในการลงมือทำ เพราะหากก้าวแรกของเราสำเร็จ ก้าวต่อไปก็ไม่ใช่งานที่ยาก ผมมองว่า จิตวิทยาในการทำงานและการกระตุ้นคน เรื่องเหล่านี้เป็นปัจจัยภายในครับที่วัดผลยากแต่ผู้นำที่ดีต้องหมั่นใช้หลักจิตวิทยาในการพูดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้กับทีมงานโดยเฉพาะเรื่องเป้าหมายที่ได้รับจากผู้บริหารที่อาจดูแล้วไม่มั่นใจในการลงมือทำในครั้งแรกที่เห็น เพราะมันเป็นสิ่งที่ใหญ่ แต่หากเราซอยย่อยออกมาเป็นแผน รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน จนถึงรายปีกับเป้าหมายนั้น ๆ ย่อมทำให้เรามีกำลังใจครับ

 

  1. ทำงานชิ้นใหญ่ขึ้น เมื่อมีความมั่นใจ

การทำงานให้เกิดความมั่นใจ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีโดยเฉพาะเวลาเจอโจทย์ใหม่ ๆ ที่ท้าทายความสามารถเพราะเราอาจไม่รู้ว่าเมื่อลงมือทำจริง ๆ แล้วผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลงมือทำจริงมากกว่าสร้างวิมานอยู่ในอากาศ จริงไหมครับ ! ซึ่งความมั่นใจจะดีมาก ๆ ตอนที่ต้องทำสิ่งใหม่ แต่ต้องระวังความมั่นใจจนเกิดอีโก้ ซุปเปอร์อีโก้ คือ ความมั่นใจแบบสุดโต้ง คิดว่าเราเก่ง เรามีความสามารถ จนขาดความรอบคอบในการวางแผนและการลงมือทำ ซึ่งอันตรายมาก ๆ แทนที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดี กับต้องมาเสียเวลานั่งแก้ไขจากความประมาท

“การวางแผนที่ดีไม่การันตีความสำเร็จ แต่การวางแผนที่ดีสามารถช่วยป้องกันและลดความผิดพลาดได้ครับ”

ดังนั้นความมั่นใจเป็นเรื่องที่ดีอย่างน้อยทำให้เรากล้าที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ไม่กลัวต่ออุปสรรค แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ จงคิดเผื่อไว้ด้วยว่า หากเกิดความผิดพลาดจากปัจจัยต่าง ๆ เราจะมีวิธีแก้ไข หรือป้องกันอย่างไรเพื่อให้งานได้มีประสิทธิผลตามที่เราต้องการ

หวังว่าแนวคิดการเป็นผู้นำที่มีภาวะผู้นำ ไม่ใช่เรื่องที่ยากเลยใช่ไหมครับ ทุกอย่างเราทำได้หมดครับหากใจสั่งมาว่า เราทำได้ แต่หากความเชื่อเราถูกปิดกั้นว่าเราทำไม่ได้ เราก็ทำไม่ได้ครับ ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราครับ อยากได้ใจลูกน้อง ให้เกิดความศรัทธาในตัวผู้นำ ผู้นำก็ควรสร้างศรัทธาที่ตนเองก่อนเสมอครับ

“พูดอย่างเดียว แต่ไม่ลงมือทำ เขาก็ไม่เชื่อ ทำอย่างเดียวโดยขาดการสื่อสารที่ดี เขาก็ไม่เข้าใจ”

จะดีมาก ๆ หากผู้นำที่มีภาวะผู้นำ พูด + ทำ ให้เห็นและนั่นล่ะครับที่เราต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองต่อไป

 

ท่านสามารถติดตาม Dr.fish ได้ทาง Line แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยทำตามขั้นตอน คือ

1.ค้นหา ID : Dr.fish กรุณากดลิงก์ด้านล่าง หรือค้นหา ID "@dr.fish" ที่ LINE หรือ LINE@ 

(กรุณาใส่ "@" ด้วย) แล้วเพิ่มเป็นเพื่อนของคุณ

 2. คลิก Link http://line.me/ti/p/%40dr.fish

 

ประโยชน์ที่จะได้รับในการเป็นเพื่อนกับ dr.fish คือ

1.ได้รับข้อมูลการพัฒนาตนเองที่เป็นประโยชน์ วิธีคิดในเชิงบวก ทุกเช้า 7.30 น.ทุกวัน

2. สามารถปรึกษาการทำงาน วิธีคิดได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเกรงใจครับ ยินดีมาก ๆ ครับ

 

คิดบวก คิดถึง Dr.fish

เขียนโดย อ.มงคล กรัตะนุตถะ

วิทยากร นักคิด นักเขียน 

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 713,403