3 เทคนิคโค้ชลูกน้อง เพื่อสร้างผลลัพธ์สู่เป้าหมายที่ต้องการ

ในฐานะที่เป็นหัวหน้า คงเคยเจอแบบนี้ใช่ไหมครับ

สั่งอะไรไปกับลูกน้องแล้วได้ผลลัพธ์ไม่ตรงกับที่เราคิดไว้ตั้งแต่ต้น

หรือบางทีได้ผลลัพธ์อย่างที่เราต้องการ แต่ลูกน้องใช้วิธีการทำงานที่ไม่เหมือนเรา 
(ซึ่งทำให้เราคิดว่ามันเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย)

หากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะเป็นตัวบั่นทอนทำให้ลูกน้องทำงานไม่มีความสุข

ความทุ่มเทในการทำงานค่อยๆหมดไป และงานก็แก้แล้วแก้อีกไม่จบซักที

จะมีเทคนิคอะไรบ้างที่ทำให้สถานการณ์นี้ดีขึ้น ลูกน้องมีความสุขและทุ่มเท

หัวหน้ามีความสุขเพราะได้ผลงานตรงอย่างที่ใจต้องการ ลองมาดูกันเลยครับ

เทคนิคที่ 1: ทำภาพสุดท้ายผลลัพธ์ของงานที่อยู่ในหัวของลูกน้อง กับที่อยู่ในหัวของหัวหน้า ให้เป็นภาพเดียวกันจริงๆ

หลายครั้งที่หัวหน้าสั่งงานไป เพราะมีภาพในหัวอีกแบบ และลูกน้องเมื่อรับคำสั่งไปก็มีภาพสุดท้ายของงานก็อีกอย่างหนึ่ง 
ทำให้ผลลัพธ์สุดท้ายไม่ตรงใจหัวหน้าซักที และลูกน้องก็ไม่ค่อยรู้สึกสนุกด้วยเมื่อต้องกลับไปแก้แล้วแก้อีก 

เทคนิคนี้ คือ นั่งลงและถามลูกน้องว่า “งานชิ้นนี้เมื่อสำเร็จ หน้าตามันจะเป็นยังไงบ้าง” 
(ละเอียดแค่ไหนขึ้นอยู่กับงานแต่ละงาน ปรับเอาตามความเหมาะสมนะครับ)

ตอนนี้หัวหน้าต้องฟังอย่างตั้งใจและคิดตามไปด้วยว่าหน้าตามันจะเป็นยังไง ไม่พูดแทรก 
เพื่อฟังจบแล้วถ้าหน้าตายังไม่ตรงกับที่เราคิด ก็ขออนุญาตลูกน้องเล่าให้ฟังว่า 
ผลลัพธ์ที่เสร็จแล้วตามที่เราต้องการมีอะไรบ้างเพิ่มเติมเข้าไป

ด้วยเทคนิคนี้จะทำให้หัวหน้า ลูกน้อง มีภาพผลลัพธ์สุดท้ายเป็นอันเดียวกัน 
ประหยัดเวลาแก้ไปแก้มาตอนที่เอามาส่งแล้วไม่ได้ดั่งใจ แล้วก็ไม่ต้องอารมณ์เสียทั้งหัวหน้าทั้งลูกน้องด้วย

เทคนิคที่ 2: การยอมให้ลูกน้องได้ดัดแปลงวิธีการทำงานให้เหมาะกับตัวเอง

เมื่อได้ภาพที่ตรงกันด้วยเทคนิคที่หนึ่งไปแล้ว ลองถามต่อว่า

“เธอจะมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้ได้อย่างที่เราคุยกันไว้เมื่อกี้ ช่วยเล่าให้พี่ฟังหน่อย 
เผื่อว่าพี่จะได้แนะนำอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้งานมันราบรื่นขึ้น”

ถามแค่นี้แล้วก็เงียบฟังวิธีการของลูกน้องได้เลยครับ

แน่นอนว่า วิธีการของลูกน้องเรา โดยส่วนใหญ่ไม่ตรงกับเรา 100%หรอกครับ 
เพราะว่าเราต่างเติบโต เรียนรู้มากันคนละแบบ ไม่มีใครเหมือนใคร 
และวิธีการก็อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากับที่เราคิดหรอกครับ เพราะหัวหน้าเก่งกว่า มีประสบการณ์มากกว่า 
แต่ถ้ากังวลว่าวิธีนี้งานจะสำเร็จหรือไม่ ก็ลองถามดูก็ได้ครับว่า

“ช่วยเล่าให้พี่ฟังหน่อยว่าการทำแบบนี้ทำให้งานสำเร็จได้ตรงตามเวลา 
และได้อย่างที่เราต้องการได้อย่างไรพี่จะได้เข้าใจเธอมากขึ้น”

การถามแบบนี้ ช่วยให้ลูกน้องของเราคิดแบบรอบคอบมากขึ้น 
เมื่อเขาได้อธิบายออกมา ในบางครั้งเขาอาจจะปรับเปลี่ยนวิธีให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้ 
เพราะการถามแบบนี้ก็เปิดโอกาสให้เขาได้ทบทวนความคิดอีกครั้งหนึ่ง 
และสุดท้าย หัวหน้าก็สามารถขออนุญาตให้คำแนะนำเพิ่มเติมได้

เทคนิคที่ 3: ปล่อยให้แสดงฝีมือ ไม่ใช่ปล่อยปะละเลย

การปล่อยให้แสดงฝีมือ คือ หัวหน้าคอยติดตามและช่วยเหลือเป็นระยะ ด้วยการถามลูกน้องในตอนท้ายของการสนทนาว่า

“นัดคุยกันอีกเมื่อไหร่ดี เพื่อให้เธอได้มั่นใจว่าเธอจะทำงานนี้ได้อย่างราบรื่นและสำเร็จอย่างที่เราคุยกันไว้ในตอนต้น”

ลูกน้องเราจะบอกมาเองครับว่า คุยกันวันไหนเพื่อให้เขาได้รายงานความคืบหน้าและปรึกษาในจุดที่เขายังไม่มั่นใจ 
หรือถ้ามีปัญหาอะไรก็จะได้ช่วยกัน ในเวลาที่พอเหมาะพอดี
แต่การปล่อยปะละเลย คือ การสั่งงาน หรือแม้กระทั่งใช้ เทคนิคหนึ่งและสอง แล้วไปเจอกันตอนงานเสร็จ 
แบบนี้มีโอกาสได้งานไม่ตรงใจหัวหน้า และต้องกลับไปแก้แล้วแก้อีกสูงมาก

ลองนำไปใช้ดูนะครับ จะทำให้ลูกน้องมีความสุขในการทำงานและทุ่มเทจนได้ผลงานที่ตรงใจหัวหน้า

 

คิดบวก คิดถึง Dr.fish

เขียนโดย โค้ชณกรณ์ ชัยณกุล

(Associate Certified Coach; International Coach Federation, USA)

Coaching Skill for Management by Dr.Fish Training 

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 713,429