เคล็ดลับ “หัวหน้า” ได้ใจ “ลูกน้อง”...“ลูกน้อง” พิชิตใจ “เจ้านาย”
เคล็ดลับ “หัวหน้า” ได้ใจ “ลูกน้อง”...“ลูกน้อง” พิชิตใจ “เจ้านาย”
การทำงานในองค์กรสมัยใหม่นั้น เราคงปฏิเสธเรื่องการทำงานด้วยทีมไม่ได้ครับ
เพราะ เก่งแค่ไหน ก็ทำงานด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะหากเรามีเป้าหมายที่อยากก้าวไปข้างหน้าให้ไกล
ดังคำที่มีคนกล่าวไว้ว่า ไปเร็วไปคนเดียว ไปไกลไปด้วยกัน เพราะหากเราอยากก้าวไปในระยะยาว
ย่อมต้องผ่านอุปสรรคมากมายที่เข้ามาทดสอบทั้งความคิด จิตใจของเรา ทว่าหากเรามีทีมที่ดี ช่วยกันคิด
ช่วยกันแก้ไข โอกาสประสบความสำเร็จย่อมมีได้แน่นอนครับ
ดังนั้น การทำงานในยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้น ย่อมต้องใส่ใจเรื่อง คน ให้มาก ๆ สำหรับมุมมองผมนั้นจาก
ประสบการณ์ที่ทำงานกับคนมากว่า 11 ปี ได้เห็นปัญหาของคนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องทัศนคติความคิด
ปัญหาด้านการสื่อสารที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์กร ปัญหาของคนที่หมดแรงจูงใจทำงานไปวัน ๆ
ปัญหาของหัวหน้างานกับลูกน้องที่นับเป็นปัญหาที่คลาสสิกมีทุกที่ มีทุกยุคทุกสมัย และอีกมากมายครับ
ซึ่งในบทความฉบับนี้ ผมจะพาผู้อ่านทุกท่านไปเรียนรู้ปัญหาของ หัวหน้างาน กับ ลูกน้อง ที่นับว่าเป็นปัจจัยที่
สำคัญในการพัฒนาองค์กร เพราะ หัวหน้างาน กับ ลูกน้อง ต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนางาน พัฒนาองค์กร
ให้สามารถแข่งขันกับองค์กภายนอกได้ ทว่า ทุกวันนี้ จากการสังเกตการไปทำงานด้านการพัฒนาคน
ผมพบว่า หัวหน้างาน บางท่านยังขาดทักษะในการบริหารคนมาก ๆ ครับ เพราะต่อให้คิดเก่ง ทำงานเก่ง
แต่บริหารคน โดยเฉพาะลูกน้องไม่ได้ จบเห่แน่นอนครับ ซึ่งหากเราเป็นหัวหน้างานนั้น สิ่งที่ต้องคำนึง
ในการทำงาน นั่นคือ 3 เก่งครับ คือ เก่งคิด เก่งงาน และเก่งคน ทั้งนี้เรามาดูความหมายของทั้ง 3 เก่งกันครับ
1.เก่งคิด
หัวหน้างานต้องรู้จักคิดในเชิงเป้าหมาย รู้จักคิดในการวางแผนการทำงาน รู้จักคิดวางแผนบริหารคน
รู้จักคิดในเชิงการแก้ไขปัญหา ไม่ยึดติดในสิ่งเดิม ๆ ที่เคยทำมาหากปัจจุบันไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้เหมือนในอดีต
ความคิด ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ครับ หัวหน้างานควรคิดดีต่อผู้อื่นให้มาก ๆ นอกเหนือจากการคิดในด้าน
บวกต่อตนเอง เพราะความคิดย่อมนำมาซึ่งพฤติกรรมในการทำงานครับ เราคิดอย่างไร พฤติกรรมเราย่อมเป็น
แบบนั้นเสมอ
2.เก่งงาน
หัวหน้างานต้องมีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำจากประสบการณ์ที่สะสมมา เพื่อนำไปสอนงาน แนะนำงาน
ให้ลูกน้องปฏิบัติในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งหัวหน้างานควรมีแนวคิดการเป็นนักพัฒนาตนเอง คือ ไม่หยุดนิ่งในการ
ขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ ในการทำงานเพื่อก้าวล้ำให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0
และหากหัวหน้างานเป็นคนที่ชอบพัฒนาตนเอง ย่อมสามารถส่ง DNA ไปสู่ลูกน้องได้ไม่มากก็น้อยครับ
เพราะผมเองก็เคยโชคดีมีเจ้านายที่เป็นนักพัฒนาทำให้ผมเห็นและซึมซับการเรียนรู้จากท่านจนทำให้ผม
ชอบการเรียนรู้ไปเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งบางครั้ง หากเรามีต้นแบบที่ดีจากหัวหน้างานลูกน้องย่อมเห็นคุณค่า
และทำเองด้วยใจเพราะเขาเห็นถึงประโยชน์ว่า หากงานก้าวไปข้างหน้าย่อมมีโอกาสเติบโตในอนาคต
3.เก่งคน
หัวหน้างานจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมของคนที่ทำงานร่วมกัน เพราะ คน ย่อมมีความคิด
ที่แตกต่างกันตามวิถีชีวิต หากเราใช้เครื่องมือเพียง 1 เครื่องมือกับคนทุก ๆ คนย่อมไม่สามารถบริหารคน
ได้ถูกจุดครับ ทว่าหากเราเข้าใจนิสัยคน รู้จักเข้าหาคนก่อนไม่รอให้เขาเดินมาหาเรา มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินมุมมองคนอื่น ๆ รับฟังทุก ๆ แนวคิดเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา หรือพัฒนางาน
นั้น ๆ ให้ดีขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกันครับ
สรุป 3 เก่งนี้สำคัญทั้งหมดครับ แต่ในมุมมองผมนั้นจากการทำงานด้านวิทยากรพัฒนาหัวหน้างาน
มาหลายปี ผมพบว่า เก่งคน สำคัญที่สุดครับ เพราะหากเราได้ใจคน ทำให้ลูกน้อง เชื่อ และ ชอบ
ลูกน้องจะทำตามด้วยใจครับ ไม่ต้องพูดเยอะครับเดี๋ยวเจ็บคอ 555
เชื่อ = เป็นตัวอย่างที่ดีในทุก ๆ เรื่องทั้งต่อหน้าและลับหลัง รู้จักให้คำแนะนำด้านบวก
ช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหา ไม่หนีปัญหา มีภาวะความเป็นผู้นำ กล้ารับผิดแทนลูกน้อง รู้จักให้คำชมลูกน้อง
ชอบ = เป็นกันเองต่อลูกน้อง มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี เข้ากับคนง่าย เห็นอกเห็นใจ เข้าใจลูกน้อง
ไม่ใช้วาจาที่ทำให้ลูกน้อง เสียหาย เสียหน้า เสียใจ และเสียความรู้สึก
การเป็นหัวหน้างานที่ดีได้นั้น ไม่ใช่สักแต่ว่า สั่ง ๆ อย่างเดียว แต่เราต้องรู้จักเข้าใจคนทำงานร่วมกัน
ที่ต้องคำนึงถึงคำว่า ทีม ให้มาก ๆ เพราะเวลาสำเร็จเราก็สำเร็จด้วยกัน เวลาที่เราเกิดปัญหา
เราต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยที่หัวหน้างานต้องรู้จักรับความผิดแทนลูกน้องก่อน
อย่าโทษว่าเป็นความผิดลูกน้องครับ เพราะภาระความรับผิดชอบเป็นของหัวหน้างานที่ต้องคอบควบคุม
ตรวจสอบการทำงานให้เป็นไปตามระบบ ซึ่งหากเกิดความผิดพลาดจนถูกตำหนิควรรับปัญหานั้นก่อน
จากนั้นค่อยมาคุยกับลูกน้องในการป้องกันปัญหาต่อไป ทว่า หากผลงานได้ตามเป้าหมายควรให้คำชื่นชม
ต่อลูกน้องซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อไปครับ
ปัญหาของการทำงานในองค์กร ถ้ามองอย่างเป็นกลางนั้น แค่หัวหน้าเปลี่ยนคนเดียวคงไม่พอครับ
เพราะการปรับตัวนั้น คนทุก ๆ คนที่ทำงานร่วมกันควรปรับตัวเข้าหากันมากกว่าแค่ ใครคนใดคนหนึ่งปรับตัวอยู่
คนเดียว ดังนั้นเรามาดูวิถีชีวิตของคนเป็นผู้ตาม หรือ ลูกน้องกันบ้างว่าจะปรับตัวเข้าหาลูกพี่ (หัวหน้า)
อย่างไรให้สามารถพิชิตใจจนได้รับโอกาสดี ๆ จากลูกพี่ในการทำงาน กันครับ
เพราะหากวันนี้ ลูกน้องอยากก้าวหน้า อย่ามีปัญหากับหัวหน้างานครับ และจงรับโอกาสในการทำงานด้วยใจ
ไม่บ่น ไม่คิดเล็กคิดน้อย เพราะหากได้รับโอกาสให้ทำงานมากขึ้น สุดท้ายประโยชน์ในการลงมือทำงานนั้น ๆ
ย่อมอยู่ที่ตัวเราไม่ใช่หรือ และยิ่งเราเก่งงานมากขึ้นเท่าไหร่ มีหลักคิดที่เป็นบวกในการสู้กับปัญหา จากนั้นค่อย ๆ
ศึกษานิสัยใจคอของคนให้รอบด้าน วันหนึ่งเราจะเป็นผู้นำที่มีผู้ตามให้ความเคารพครับ
ดังนั้น การเป็นผู้ตามที่ดีนั้น ก่อนออกจากบ้านสิ่งที่ต้องพกติดตัวเสมอ ไม่ใช่คาถา หรือ วัตถุมงคลใด ๆ ทั้งสิ้นครับ
อย่าเข้าใจผิด แต่เป็น 2 สิ่งที่ทุก ๆ องค์กรต้องการจากคนทำงานทุกคนครับ นั่นคือ
การทำงานเชิงรุก (Proactive) และ มีความเป็นมืออาชีพ (Professional)
การทำงานเชิงรุก (Proactive) คือ คนที่กล้าคิด รู้จักวางแผนการทำงาน รู้จักคาดการณ์กับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นใน
อนาคต ไม่กลัวต่อปัญหาที่เจอ แต่พร้อมเผชิญกับปัญหาหากเจอสิ่งที่ผิดพลาดจากการวางแผน
เพื่อให้การทำงานนั้นก้าวไปข้างหน้า กล้าสื่อสารหากสิ่งที่ทำเริ่มไม่ใช่เหมือนที่วางแผนเอาไว้ ตื่นตัว
มีพลังแห่งความมุ่งมั่น มีอินเนอร์ทำงานเกินร้อยเสมอครับ
มีความเป็นมืออาชีพ (Professional) คือ คนที่มีความรับผิดชอบในการทำงานของตนเองค่อนข้างสูง
มีความซื่อสัตย์ในงานที่ทำ เคารพในคุณค่าของเวลาทั้งต่อตนเอง และเวลาของผู้อื่นในการทำงานร่วมกัน
ทำงานเสร็จทันเวลา และส่งงานล่วงหน้าเพราะคำนึงถึงคนที่ทำงานต่อที่ต้องมีเวลาในการคิดมากกว่าส่งล่าช้าจน
ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ใช้อารมณ์ต่อคนอื่น ๆ ถึงแม้จะไม่ชอบนิสัยใจคอในการทำงาน
แต่หากต้องติดต่อประสานงานกับคนที่ไม่ชอบ ต้องคำนึงถึงงานที่ต้องเดินหน้าต่อไปมากกว่าไม่สนใจใยดี
เพราะมืออาชีพ เขาสร้างมิตรมากกว่าศัตรู เพราะคิดเสมอว่า หากเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อคนอื่น ๆ
รู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจ ให้เกียรติคนอื่นก่อน เราย่อมได้รับเกียรตินั้นกลับคืนมาเสมอครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ คาถา 2 ข้อ หากใช้ทุก ๆ วันบอกตรง ๆ ดีต่อใจมากมายครับ อย่าลืมพกออกจากบ้านนะครับ
นอกเหนือจาก การทำงานเชิงรุก (Proactive) และ มีความเป็นมืออาชีพ (Professional) สิ่งที่ลูกน้องควรทำ
ความเข้าใจให้มาก ๆ นั่นคือ วันนี้เราเปลี่ยนความคิดคนอื่นไม่ได้ครับ เราเปลี่ยนพฤติกรรมคนอื่น ๆ ไม่ได้ครับ
ทว่า เราเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเองได้ ซึ่งหากเราเป็นลูกน้องเราควรสังเกตลูกพี่เราว่า เขาเป็นคนที่ทำงาน
อย่างไร เพื่อปรับตัว ปรับใจในการทำงานนั้น ๆ ให้เท่าทันความคิดของลูกพี่ เช่น
หากเรามีลูกพี่ที่ทำงานเร็ว ชอบเน้นผลลัพธ์เป็นหลัก สั่งปุ๊บต้องได้ปั๊บ
ดังนั้น จงอย่าได้ทำงานช้า ปรับตัว ปรับใจทำงานชิ้นนั้น ๆ ให้เร็ว แต่เร็วอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีคุณภาพพอสมควร
ตื่นตัวตลอดเวลาและหาความรู้อยู่เสมอเพื่อเข้าใจความคิดของลูกพี่ที่มีแนวคิดกว้างไกล ชอบความท้าทาย
และต้องการผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ
อีกสักตัวอย่าง
หากเรามีลูกพี่ที่ทำงานช้า มีความละเอียดรอบคอบสูง ค่อนข้างเป็นคนที่ทำงานเป็นขั้นเป็นตอน
ทำสิ่งใดต้องมีเหตุผลรองรับ มีที่มาที่ไปในการทำงาน เน้นข้อมูลมากกว่าการสื่อสารผ่านคำพูดเพียงอย่างเดียวนั้น
เราต้องรู้จักปรับตัว ปรับใจ เพื่อทำงานให้ละเอียดมากที่สุด ดังนั้นทำงานกับลูกพี่ประเภทนี้ไม่ต้องเร็วมาก
ความเร็วปานกลาง แต่เน้นที่ข้อมูล รายละเอียดก่อนส่งงานควรตรวจสอบให้ดี เตรียมทำการบ้านให้ดี
เพราะลูกพี่ประเภทนี้มักเป็นเจ้าหนูจำไม ชอบถามถึงที่มาที่ไป ชอบเปรียบเทียบข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุด
ทำงานต้องเป็นไปตามระบบ ไม่ข้ามขั้นตอน เน้นช้าแต่ชัวร์ครับ
การทำงานให้ได้ใจลูกพี่ หรือ เจ้านายนั้น ไม่ใช่สักแต่ว่าพูดนะครับ เราควรทำผลงานให้เป็นในเชิงรูปธรรมจับต้อง
ได้ มากกว่าใช้คำพูดเชิงนามธรรมไปวัน ๆ ครับ เพราะสำหรับมุมมองลูกพี่ทุกคนนั้น ผมมองว่าการทำงานควรมี
2 ข้อนี้ นั่นคือ งานต้องเร็ว และ มีคุณภาพ ครับ
งานต้องเร็ว คือ งานที่ต้องทำให้ทันเวลา เพราะเวลาเป็นของมีค่า เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง เวลาไม่เคยถอยหลัง
มีแต่ก้าวไปข้างหน้า หากเราไม่คำนึงถึงเวลาที่เป็นต้นทุนของชีวิต ทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่สนใจเป้าหมาย
ยากครับ ที่งานจะเสร็จทันเวลา และแบบนี้คงโดนคู่แข่งแซงไปข้างหน้าแน่ ๆ ครับ
มีคุณภาพ คือ ทุก ๆ งานที่ทำต้องเดินตามระบบ หากมีระบบที่เขียนเอาไว้ และระบบนั้นยังสามารถดำเนินการได้
อยู่ในปัจจุบัน ยกเว้น ระบบที่สร้างมาเริ่มช้าลงไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแบบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ครับ
ซึ่งคนในองค์กรมักมีทั้ง มืออาชีพ และ มือสมัครเล่น มืออาชีพมักคำนึงถึงงานที่เป็นระบบ ส่วนมือสมัครเล่น
มักทำตามใจฉัน ซึ่งหากเราทำงานที่คำนึงถึงคุณภาพ ของเสียต้องน้อย หากเราอยู่ในสายการผลิต
เพราะยิ่งของเสียมาก มันคือต้นทุนในการดำเนินงาน ยิ่งต้นทุนเยอะ กำไรก็น้อยตามมาครับ
และไม่ใช่แค่สายงานผลิตที่ต้องเน้นคุณภาพ ทุก ๆ งานที่เราทำ ควรเน้นคุณภาพก่อนส่งมอบให้ลูกค้าด้วยครับ
เพราะหากเราใสใจที่คุณภาพ ลูกค้าย่อมเห็นคุณค่าเราและใช้บริการเราอย่างต่อเนื่องครับ
ไม่ว่าเราจะอยู่ในบทบาทไหน ๆ สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ การเข้าใจคนรอบข้างที่ต้องสื่อสาร ประสานงานกัน
เย้นย้ำว่า ประสานงาน ไม่ใช่ประสานงา นะครับ เพราะหากเราทำงานด้วยความรักใคร่ กลมเกลียว สามัคคลี
เข้าใจให้เกียรติกัน พุดจาดี ๆ ต่อกัน และทำหน้าที่ในบทบาทที่เรารับผิดชอบให้ดีที่สุด ผมคิดว่าทุกงาน
ย่อมก้าวไปข้างหน้าด้วยกันได้ไกลแน่นอนครับ
เชื่อผมเถอะ ++
ท่านสามารถติดตาม Dr.fish ได้ทาง Line แล้วตั้งแต่วันนี้ โดยทำตามขั้นตอน คือ
1.ค้นหา ID : Dr.fish กรุณากดลิงก์ด้านล่าง หรือค้นหา ID "@dr.fish" ที่ LINE หรือ LINE@
(กรุณาใส่ "@" ด้วย) แล้วเพิ่มเป็นเพื่อนของคุณ
2. คลิก Link http://line.me/ti/p/%40dr.fish
ประโยชน์ที่จะได้รับในการเป็นเพื่อนกับ dr.fish คือ
1.ได้รับข้อมูลการพัฒนาตนเองที่เป็นประโยชน์ วิธีคิดในเชิงบวก ทุกเช้า 7.30 น.ทุกวัน
2. สามารถปรึกษาการทำงาน วิธีคิดได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเกรงใจครับ ยินดีมาก ๆ ครับ
คิดบวก คิดถึง Dr.fish
เขียนโดย อ.มงคล กรัตะนุตถะ
วิทยากร นักคิด นักเขียน